รู้เรื่อง LRT บางนา-สุวรรณภูมิ

พัฒนาโครงข่าย กระจายทางราง เดินทางยั่งยืน

องค์ประกอบหนึ่งของเมืองน่าอยู่ คือ การมีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร จำเป็นต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่สามารถส่งผู้โดยสารให้ถึงที่หมายได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย กำหนดเวลาในการเดินทางได้ ที่สำคัญคือ มีโครงข่ายให้บริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึงเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรได้อย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมาโดยตลอด ปัจจุบันมีโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนระบบรางระบบหลัก (Primary Rail Mass Transit System) เปิดให้บริการแล้วหลายสาย ช่วยรองรับการเดินทางของประชาชนในหลายพื้นที่ แต่ระบบขนส่งมวลชนระบบรางดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เนื่องจากการขยายตัวของจำนวนประชากรและการเจริญเติบโตของเมือง และในบางพื้นที่มีข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมในการพัฒนาโครงข่ายระบบรางระบบหลัก ดังนั้น เพื่อดำเนินการตามนโยบายของรัฐที่ต้องการพัฒนาระบบรางให้เป็นระบบหลักในการเดินทางและขนส่งของประเทศ พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน จึงเห็นควรให้มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางระบบรอง (Secondary Rail Mass Transit System) อย่างระบบรถไฟรางคู่ขนาดเบา (Light Rail Mass Transit) เพื่อเสริมระบบหลักดังกล่าว และสามารถเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางของชาวกรุงเทพมหานครในอนาคต

 

เดินหน้า LRT บางนา-สุวรรณภูมิ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนกรุง

บางนา-ตราด เป็นหนึ่งในทำเลคุณภาพ ที่มีถนนสายหลักใช้เดินทางสู่ภาคตะวันออกและสามารถเชื่อมต่อถนนสายรองได้หลายเส้นทาง ขึ้นลงทางด่วนสะดวก ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจอื่นๆ เป็นทำเลทองของการค้าการลงทุน ปัจจุบันมีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรมค่อนข้างหนาแน่น แม้ว่าจะมีโครงข่ายระบบรางระบบหลักอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เชื่อมต่อการเดินทางมายังย่านบางนาและจังหวัดสมุทรปราการ และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่เชื่อมสู่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิแล้วก็ตาม แต่ในพื้นที่ถนนสายบางนา-ตราด ยังไม่มีระบบรถไฟฟ้าให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้ประชาชน

สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ในฐานะผู้รับผิดชอบและพัฒนาระบบการเดินทางให้ประชาชน ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและออกแบบรายละเอียดเบื้องต้นระบบรถไฟรางคู่ขนาดเบาสายบางนา-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2556 เนื่องจากสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเวลาที่ศึกษาไว้เดิม ประกอบกับผลการศึกษาและออกแบบรายละเอียดดังกล่าวยังไม่ได้รวมถึงการจัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ดังนั้น สำนักการจราจรและขนส่งกรุงเทพมหานคร จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนผลการศึกษาและดำเนินการศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ให้ครบถ้วน เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการดังกล่าวต่อไป

Scroll Up